• Share this text:
Report Abuse
สถาบันกษัตริย์กับการเมืองในปัจจุบัน ตอนที่ 1 ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ - posted by guest on 30th July 2020 12:48:55 PM

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า กษัตริย์ภูมิพลนับเป็นกษัตริย์ที่โดดเด่นที่สุดในบรรดากษัตริย์จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบริบทการเมืองไทย กษัตริย์ภูมิพลมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำความเจริญ ทันสมัย ศิวิไลซ์มาสู่สยาม หรือตามที่นักประวัติศาสตร์อนุรักษนิยมได้กล่าวว่า มีส่วนทำให้สยามสามารถรักษาเอกราชไว้ได้ในยุคอาณานิคม


กษัตริย์ภูมิพลก้าวขึ้นสู่บัลลังก์แบบ “อุบัติเหตุ” เมื่อปี 2489ในยุคที่สถาบันกษัตริย์ตกต่ำอย่างมาก กษัตริย์ภูมิพลสามารถปรับสถานะของสถาบันกษัตริย์จากที่อยู่ในสภาพเกือบจะ “สูญพันธุ์” พลิกไปสู่การเป็นสถาบันที่มีความสำคัญต่อการเมืองไทยมากที่สุดในยุคสมัยใหม่ โดยผ่านการสร้างบารมีส่วนตัว ไหวพริบ และการใช้เครือข่ายในการคงสถานะสำคัญทางการเมืองไว้ จนอาจกล่าวได้ว่า สถาบันกษัตริย์ในยุคนี้สามารถครอบงำระบอบและผู้นำทางการเมืองไว้ได้อย่างทรงพลังและมีประสิทธิภาพ


แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ต้องการปรับโครงสร้างและภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่ ทำให้นำไปสู่การท้าทายเครือข่ายพระมหากษัตริย์[1] ที่ดำรงอยู่มาหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ โดยทักษิณใช้ประโยชน์จากผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยในชนบทผ่านนโยบายประชานิยมที่ประสบความสำเร็จและระบบการเลือกตั้ง เปลี่ยนความภักดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันกษัตริย์ไปสู่ความภักดีต่อระบบการเมืองที่ตั้งอยู่บนสิทธิการเลือกผู้แทนฯ ทักษิณได้อาศัยระบบอุปถัมภ์สร้างเครือข่ายอำนาจของตัวเองเฉกเช่นเดียวกับเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ เมื่อความนิยมในตัวทักษิณสูงมากขึ้น และไทยรักไทยได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งติดต่อกันถึงสองครั้ง ทักษิณกลายเป็นผู้นำจากการเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จสูงสุดนับตั้งแต่ไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ทำให้สถาบันกษัตริย์เริ่มรู้สึกหวาดหวั่น (insecure) ต่อเกมการเมืองแบบใหม่ที่อาณัติของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีความสำคัญอย่างยิ่ง สถานการณ์ของความหวาดหวั่นเช่นนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การก่อรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งสาธารณชนไทยเชื่อว่า มีบุคคลสำคัญในเครือข่ายพระมหากษัตริย์เป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง


หลังจากรัฐประหาร การเมืองไร้เสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง เกิดการต่อสู้ทางการเมืองที่รุนแรงระหว่างฝ่ายสนับสนุนเครือข่ายพระมหากษัตริย์กับกลุ่มที่สนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย (ในกลุ่มหลังมีกลุ่มที่ยังคงให้การสนับสนุนต่อทักษิณประกอบอยู่ด้วย) กลุ่มเคลื่อนไหวเสื้อเหลืองไม่เพียงแต่ได้รับการสนับสนันจากชนชั้นนำชาวกรุงเทพฯ แต่พวกเขาได้แสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของตนยังได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกบางคนของราชวงศ์จักรี [2] ทว่าในความเป็นจริง คนเสื้อแดงและฝ่ายทักษิณยังคงสามารถควบคุมการเมืองที่ตั้งอยู่บนความสำคัญของการเลือกตั้ง และนี่คือเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (น้องสาวทักษิณ) และพรรคพวก ยังคงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเหนือพรรคการเมืองที่สนับสนุนอุดมการณ์กษัตริย์นิยมในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554


[1] “เครือข่ายพระมหากษัตริย์” (network monarchy) ในที่นี้มีความหมายกว้างกว่าองค์พระมหากษัตริย์ ดู Duncan McCargo, “Network Monarchy and Legitimacy Crises in Thailand,” The Pacific Review Vol. 18,No. 4 (December 2005): 499–519.

[2] ระหว่างการชุมนุมก่อนหน้าการรัฐประหาร 19 กันยาไม่นาน แกนนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ใส่ “ผ้าพันคอสีฟ้า” ที่มีข้อความ “902…74…12 สิงหาคม 2549...แม่ของแผ่นดิน” ซึ่งภายหลังคำนูญ สิทธิสมานได้บันทึกเล่าว่า “ท่านผู้ปรารถนาดี” คนหนึ่งมอบให้ นอกจากนี้ยังมี “สุภาพสตรีสูงศักดิ์” และ “ผู้ใหญ่ที่ท่าน [สุภาพสตรีสูงศักดิ์] เคารพ” มอบเงินจำนวน 2.5 แสนบาทให้แก่พันธมิตรฯ ด้วย ต่อมาในเดือน ส.ค. 2550 สนธิ ลิ้มทองกุลได้กล่าวที่สหรัฐฯ ว่า เขาเคยได้รับ “ของขวัญชิ้นหนึ่งมาจากราชสำนัก ผ่านมาทางท่านผู้หญิงบุษบา ซึ่งเป็นน้องสาวพระราชินี” และได้กล่าวบนเวทีชุมนุมขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนของพันธมิตรฯ ในเดือน มิ.ย. 2551 ว่า “ผ้าพันคอ [สีฟ้า] นี้ ข้าราชบริพารในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เอามาให้พวกเราคืน [ก่อนเกิดรัฐประหาร] นั้น แล้วบอกว่า พระองค์ท่านพระราชทานมา เป็นผ้าพันคอพระราชทาน” หลังจากนั้นในการชุมนุมของพันธมิตรฯ เดือนต่อมา สนธิได้นำเทปบันทึกเสียงส่วนพระองค์ของพระราชินีมาเปิดให้ผู้ชุมนุมฟัง แล้วตีความในลักษณะที่สนับสนุนการชุมนุมขับไล่รัฐบาล และต่อมาในวันที่ 13 ต.ค. ปีเดียวกัน พระราชินีได้เสด็จไปพระราชทานเพลิงศพให้ “น้องโบว์” ซึ่งบิดาของน้องโบว์ได้เปิดเผยแกสื่อมวลชนว่าพระองค์มีรับสั่งว่า “[น้องโบว์] เป็นคนดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์... ยังไงก็ต้องมางานนี้ เพราะทำเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระองค์ด้วย... เป็นห่วงพันธมิตรฯ ทุกคน ไว้จะฝากดอกไม้ไปเยี่ยมพันธมิตรฯ” ดู หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ,กรุงเทพธุรกิจ, มติชน, และอีกหลายฉบับของวันที่ 14 ต.ค. 2551; คำนูญ สิทธิสมาน, ปรากฏการณ์สนธิ:จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า (กรุงเทพฯ: บ้านพระอาทิตย์, 2549); และดูเพิ่มเติมบทความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 2 ชิ้น เรื่อง “พระบารมีปกเกล้า: พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร,” ประชาไท, 12 สิงหาคม2551, http://www.prachatai.com/journal/2008/08/17688; และ “ปัจฉิมลิขิต บทความ ‘พระบารมีปกเกล้า: พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร’,” ประชาไท, 12 สิงหาคม 2553, http://prachatai.com/journal/2010/08/30680.

Report Abuse

Login or Register to edit or copy and save this text. It's free.